
ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ใครก็อยากได้เงินที่มากขึ้นกันทั้งนั้น แต่ถ้าจะได้เงินที่มากขึ้น ก็จำเป็นต้องเสียสละเวลาส่วนหนึ่ง
ออกไปรับจ๊อบพิเศษเข้ามาอีก ทว่าปัญหาสำหรับบางคนก็คือไม่มีเวลา หรือไม่มีศักยภาพพอที่จะออกไปรับจ๊อบเพิ่มน่ะสิ
แค่ทำงาน 8 ชั่วโมง (อย่างต่ำ) ต่อวัน ก็เหนื่อยสายตัวแทบขาดแล้ว ยิ่งคนที่มีโรคประจำตัว ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า แค่ “เก็บเงิน” ไม่รับจ๊อบเพิ่ม เราก็มีเงินงอกเงยได้ เพียงแค่เรารู้วิธีบริหารเงิน และต่อยอดเงินให้เป็น
1. อย่าดูหมิ่นเศษเงิน
นอกเหนือจากการหักเงิน 50 บาท เข้ากระปุกส่วนตัว เงินที่เป็นเศษเหรียญเล็กน้อย
เหลือจากการใช้จ่ายแต่ละวัน ก็อย่าดูแคลน หยอดเข้าไปสมทบกับกองแบงค์ 50 ด้วย
เห็นเป็นเศษเล็กเศษน้อยอย่างนี้ เราสะสมนานวันเข้า ก็เป็นเงินจำนวนมากได้เหมือนกันนะจ๊ะ
2. หักเข้าเงินออมไปเลยวันละ 50 บาทเป็นอย่างต่ำ
เทคนิคนี้เป็นเทคนิคยอดฮิต ที่หลายเว็บบอร์ดก็ทำกัน เพราะแบงค์ 50 ถือว่าเป็นแบงค์มูลค่ากลางๆ
ไม่รู้สึกว่ามากไป จนต้องอดมากกว่าอิ่ม แต่ก็เป็นเงินจำนวนมากพอที่จะเป็นก้อนเงินฉุกเฉินได้
ถ้าคุณสามารถเก็บได้ทุกวันใน 1 เดือน ก็ได้เงิน 50×30 = 1,500 บาทแล้ว 1 ปีผ่านไป ก็ได้ตั้ง 18,000 บาทแน่ะ
3. หากเก็บเงินถึงหลักหมื่น (อย่างน้อย 20,000 บาท) ซื้อทองเก็บไว้
ทองคำถือว่าเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่ง ที่มีแนวโน้มว่ายิ่งเก็บนาน ราคายิ่งงอกเงย เก็บไว้ตอนนี้ 10 ปีต่อไป อาจเพิ่มเป็นหลายเท่าตัวก็ได้
4. เลือกเปิดบัญชีที่มีดอกเบี้ยสูง
ไหนๆ ก็เก็บเงินเป็นประจำสม่ำเสมอ ก็ทำให้มันงอกเงยเป็นรูปร่าง ด้วยการกินดอกเบี้ยในธนาคารไปด้วยสิ
ถ้าจะให้ดีลองมองหาบัญชีประเภทฝากประจำ แต่ได้ดอกเบี้ยสูง (หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เปรียบเทียบแต่ละแบงค์ให้ดีก่อนตัดสินใจ)
5. สมัครบัตรเครดิต
หลายคนมักเข้าใจผิดว่า การใช้บัตรเครดิต เท่ากับการนำเงินในอนาคตมาใช้
น้อยคนนักที่จะเล็งเห็นประโยชน์ว่า “แต้มสะสมก็คือการทุ่นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง” สินค้าบางอย่าง
บริการบางตัว หากเราไม่มีเงินสด สามารถใช้แต้มสะสม เป็นส่วนลดหรือแลกได้ในทันที
6. ลงทุนหุ้น หรือกองทุนรวม (อย่างน้อยควรมีเงินเก็บสัก 20,000 บาท)
เจียดเงินเก็บสักก้อน 5,000-10,000 บาท นำไปซื้อหุ้นไว้เก็งกำไร หรือลงทุนในกองทุนรวม
เงินปันผลถึงจะไม่มากมาย แต่ก็พอทุ่นค่าใช้จ่ายเป็นค่าขนมได้บ้าง อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา
เงินที่มีอยู่ถ้าเรามองว่ามันน้อย มันก็จะเป็นเงินน้อย แต่ถ้ามองเห็นก้อนเงินที่งอกเงยกว่าเดิม
เราก็จะได้ก้อนเงินที่งอกเงยกว่าเดิม มันอยู่ที่วิธีคิด และวิธีบริหารจัดการ คุณเลือกได้
ขอขอบคุณ j e e b m e