
การลงทุนในปัจจุบัน สามารถเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 1 บาท แต่ถึงจะแค่ 1 บาทก็ต้องเป็น 1 บาท
ที่เราพร้อมจะ เ สี่ ย ง เสียมันไปนะคะ ซึ่งหากใครอยากเก็บเงินไปลงทุน สิ่งสำคัญคือ
ต้องรู้ด้วยว่าเราควรจะนำเงินส่วนไหนมาลงทุนจะได้ไม่เดือดร้อนทีหลัง
เพราะการลงทุนมันมีความ เ สี่ ย ง เงินนั้นจะต้องไม่เป็นเงินที่เอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
และจะต้องเป็นเงินที่แยกออกมาจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ไปดูกันว่าเราควรจะเอาเงินส่วนไหนมาลงทุนดี ?
แล้วจะเก็บเงินมาลงทุนยังไงสำหรับคนเงินน้อย
หมายเหตุ: บทความนี้ เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาในการ
ชี้นำให้ลงทุนแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ทำไมต้องลงทุนด้วยเงินเย็น
เงินเย็น คือเงินที่เราสามารถนำมันวางเฉย ๆ ได้ โดยไม่มีแผนที่จะใช้มันเลยเป็นปี ๆ
เงินส่วนนี้คือเงินที่เหมาะที่จะนำไปลงทุน ให้เงินงอกเงย สามารถนำไปทำประโยชน์ต่าง ๆ
ได้ ไม่ว่าจะเป็นการออมหุ้น ซื้อกองทุนหรือจะลงทุนในทางเลือกอื่น ๆ ได้อีกมากมาย
เนื่องจากการลงทุน ทุกอย่างมีความ เ สี่ ย ง การลงทุนไม่ใช่การเก็บเงิน ดังนั้น
จึงไม่มีอะไรมาการันตีเราได้เลยว่า ‘เงิน’ ที่เราลงทุนไปนั้นจะไม่ขาดทุน และ
จะอยู่ครบตามจำนวนที่ลงทุนไป ทุกบาททุกสตางค์ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เงินที่เราจะเอามาลงทุน
นั้นต้องเป็นเงินที่เราไม่จำเป็นต้องใช้จ่าย เพราะถ้าหากเราขาดทุนขึ้นมา เราก็จะไม่มีเงินมาใช้จ่ายในสิ่งที่มันจำเป็นกว่า
ยกตัวอย่างเช่น เราได้เงินเป็นของขวัญวันเกิด จากลุง 100 บาท เราคิดว่าจะเก็บไปลงทุน
แต่บังเอิญเราติดหนี้เพื่อนอยู่ 100 บาท ถ้าเราเอาเงินทั้งหมดไปลงทุนแล้วทำเนียนไม่จ่ายหนี้เพื่อน
พอเพื่อนมาทวงปุ๊บเราคิดว่าจะไปถอนเงินที่ลงทุนไว้มาใช้หนี้เพื่อน
แต่ปรากฏว่าเงินที่ลงทุนไปขาดทุนหนัก จากที่ลงทุนไป 100 บาท เหลืออยู่ 5 บาทถ้วน
ทำให้ไม่มีเงินมาใช้หนี้เพื่อนแถมยัง ต้องไปยืมเงินเพื่อนอีกคนมาใช้หนี้เพื่อนคนนี้อีก เพราะพลาดไปเอาเงินที่ต้องใช้หนี้มาลงทุน
ส่วนอีกกรณีหนึ่งคือ เอาเงินครึ่งหนึ่งที่ได้จากที่ผู้ปกครองให้ในแต่ละเดือนไปลงทุน
แล้วค่อยเอากำไรที่ได้มาใช้จ่าย แบบนี้ก็ต้องระวังนะคะ หลักการของเคสนี้ คือ
ได้เงินจากพ่อแม่เดือนละ 5,000 บาท แล้วเอาไปลงทุนครึ่งหนึ่งก็คือ 2,500 บาท
คิดกำไรเนาะ ๆ วันละ 1% ก็จะทำกำไรได้วันละ 25 บาท เดือนหนึ่งจะได้ 775 บาท รวม ๆ
แล้วจะมีเงินเพิ่มเดือนละตั้ง 775 บาทแหนะ แต่เราลืมคิดไปว่าถ้ากองทุนหรือหุ้นที่เราลงทุนไปมันไม่บวก 1% ทุกวันล่ะ ?
ถ้ามันขาดทุนยาว ๆ ไปล่ะ ? แบบนี้เราจะเอาเงินที่ไหนซื้อข้าวกิน ใช้จ่ายเวลาไปโรงเรียน… ก็ ช็ อ ต เลยซิทีนี้
แล้วเราจะเอาเงินส่วนไหนมาลงทุนดี ?
เงินร้อน : เงินที่ต้องใช้จ่ายสำหรับชีวิตประจำวัน เช่น ค่ารถ ค่าอาหารต่อเดือน เงินค่าหอ เงินใช้หนี้ เงินออมเผื่อฉุกเฉิน เงินส่วนนี้ไม่ควรนำไปลงทุน
เงินเย็น : เงินเหลือเก็บสะสมไว้ไม่ได้ใช้อะไร เป็นเงินของเราจริง ๆ ไม่มีภาระต้องคืนใคร ไม่มีภาระต้องเอาไปจ่ายค่าอะไร
วางไว้เฉย ๆ หายไปก็ใช้ชีวิตได้ไม่เดือดร้อน (แค่เสียดายมาก ๆ) เงินส่วนนี้คือ เงินที่เหมาะจะนำไปลงทุน
ออมแบบไหน ให้ได้เงินเย็นมาลงทุนสำหรับคนงบน้อย
เก็บแบงค์ 20 ทุกวัน
หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินเทคนิค อย่างการเก็บแบงค์ 20 กันมาบ้าง เทคนิคนี้ถือได้ว่าเป็นอีกเทคนิคที่ทำได้ง่าย
ถ้าเราเก็บแบงค์ 20 บาททุกวันเป็นเวลา 1 เดือนเราจะเก็บเงินได้เดือนละ 600 บาท ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการซื้อกองทุนขั้นต่ำ
ของหลาย ๆ กองทุน (กองทุนที่ลงทุนได้ตั้งแต่ 1 บาท)แต่หากใครคิดว่ามันยากไปก็ให้ลองกำหนดเลข นำ โ ช ค ขึ้นมาสัก 1 ตัวเลข
ถ้าเมื่อไหร่เจอแบงค์ 20 ที่ลงท้ายด้วยเลข นำ โ ช ค ของเราก็เก็บหมดห้ามใช้
เลือกเก็บเหรียญ
เวลากลับมาจากโรงเรียน เข้าบ้านแล้วเรียบร้อยให้เราเอาเหรียญที่เหลือ ในแต่ละวันมาเช็กดู
บางคนอาจเลือกเก็บเหรียญ 5 บาท หรือเหรียญ 10 บาทก็ได้ค่ะแล้วหยอดเหรียญ 5 หรือเหรียญ 10 ใส่กระปุกเอาไว้
เก็บรวบรวมไว้ทุกวัน เป็นประจำให้กลายเป็นนิสัย แล้วนำเงินที่เก็บได้ในแต่ละเดือนไปลงทุนในเดือนถัดไปได้เลย
เก็บเงินตามวัน
เป็นอีกหนึ่งวิธี ที่ไม่ยากเท่าไหร่ค่ะ แล้วก็ฮิตมาก ๆ ในโซเชียลมีเดีย นั่นก็คือ
วิธีการเก็บเงินตามวันที่ไล่เรียงตั้งแต่วันที่ 1-30 เพิ่มขึ้นวันละบาทเช่น วันที่ 1 หยอด 1 บาท
วันที่ 2 หยอด 2 บาท ไปจนถึงวันที่ 30 เราจะได้เงินลงทุนทั้งหมด 465 บาท ซึ่งแน่นอนว่า
465 บาทก็เพียงพอ ต่อการซื้อกองทุนขั้นต่ำของบางกองทุนได้แล้ว
ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์
วิธีนี้จะได้ผลดีสำหรับสายกินเก่ง และช้อปปิ้งบ่อย บางคนจะสั่งน้ำหวานหรือขนมหวานทุกวันใช่ไหมคะ ?
วิธีเก็บเงินมาลงทุนง่าย ๆ ก็คือให้เรางดซื้อน้ำหวานวันละแก้วหรือลดการซื้อให้น้อยลง
สมมติว่าน้ำหวานแก้วละ 25 บาท เราไม่กินเลย 30 วัน เราก็จะเก็บเงินไปลงทุนได้ทั้งหมด 750 บาท
ซึ่งเพียงพอ ต่อการซื้อกองทุนขั้นต่ำบางกองทุน แค่ต้องสะกดจิตตัวเองให้อดทนต่อความอยากกินให้ได้
หรือบางคนเป็นสายช้อปปิ้ง ก็อาจจะต้องลดการ CF ไว โ อ น เร็วลงบ้าง แต่วิธีนี้อาจจะไม่เหมาะสำหรับบางคน
อย่างไรก็อยากให้ลองปรับใช้ดูและหาวิธีออมเงินเพื่อลงทุนที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเองดู